ราชดัด

ชื่อสมุนไพร

ราชดัด

ชื่ออื่นๆ

ดีคน (อุบลราชธานี) กะดัด ฉะดัด(ใต้) ดีคน(กลาง) กาจับหลัก ยาแก้ฮากขม(เชียงใหม่) พญาดาบหัก(ตราด) เพี้ยฟาน(นครราชสีมา ขอนแก่น) เพียะฟาน(นครศรีธรรมราช) มะลาคา(ปัตตานี) สอยดาว(จันทบุรี) เท้ายายม่อมน้อย มะขี้เหา มะดีควาย

ชื่อวิทยาศาสตร์

Brucea javanica (L.) Merr.

ชื่อพ้อง

Brucea amarissima

ชื่อวงศ์

Simaroubaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 0.5-4 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีขาวปนเทา มีขนสีเหลืองปกคลุมหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับเวียนรอบกิ่ง มีใบย่อย 5-13 ใบ แผ่นใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ถึงรูปหอกแกมรูปไข่ กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ขอบใบหยักมนเป็นฟันเลื่อยตลอดทั้งขอบใบ ปลายใบแหลม โคนใบมน ผิวใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน เนื้อใบบาง นิ่ม ก้านใบย่อยยาว 3-10 มิลลิเมตร ก้านใบยาว 5-10 เซนติเมตร ดอกออกรวมเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ช่อดอกยาว 5-40 เซนติเมตร เป็นดอกแยกเพศ มีทั้งต้นที่พบเฉพาะช่อดอกตัวผู้และดอกตัวเมียในช่อเดียวกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีขาวอมเขียวถึงสีแดงอมเขียวหรือสีม่วง ออกเป็นช่อตามซอกใบ และที่ปลายยอด  กลีบดอกรูปช้อนใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย สีอมม่วงหรือสีน้ำตาลแดง กลีบดอกมี 4 กลีบ มีขน เกสรตัวผู้มี 4 อัน ฐานอับเรณูทรงกลมใหญ่ ก้านชูเกสรเป็น 4 พู รังไข่เป็นชนิดอยู่สูง กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมาก มี 4 แฉก ผลเป็นผลสด กลมเป็นพวง มีเนื้อ รูปกลม ผิวเรียบเป็นมัน ขนาดเล็ก ยาวราว 4 มิลลิเมตร ออกรวมกลุ่มกัน 1-4 ผล เปลือกผลแข็ง เมื่อผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีดำ คล้ายเมล็ดมะละกอแห้ง มีเมล็ดเดียว ผิวเรียบ สีน้ำตาล รสขมจัด พบตามป่าเบญจพรรณ และป่าโปร่ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

 

ลักษณะวิสัยที่พบในป่า

 


ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ใบ  และ  ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ใบ และ ผล

 

ผลอ่อน

 

ผลสุก

 

สรรพคุณ    
             ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้ ราก เข้ายากับนางแซงแดง ฝนกับน้ำดื่ม แก้พิษไข้ ผิดสำแดง ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ตัวเหลือง ตาเหลือง
             ตำรายาไทย  ใช้ ผลแก่จัด มีรสขม มีสรรพคุณแก้กระษัย บำรุงน้ำดี บำรุงน้ำเหลือง แก้ท้องอืดเฟ้อ  แก้ลมวิงเวียน แก้หาวเรอวิงเวียน แก้อาเจียน แก้เจ็บอก แก้อาเจียนเป็นเลือด เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร ขับพยาธิ แก้โรคบิดไม่มีตัว ท้องร่วง และแก้ไข้มาลาเรีย โดยนำผลมาทุบให้เปลือกแตกต้มรับประทานครั้งละ 5 ผล เมล็ดแห้ง รสขมฝาด ใช้รักษาโรคผิวหนังจำพวกเกลื้อน โดยนำเมล็ดแห้งตำพอแหลกแล้วเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ ใช้เตรียมเป็นยาคุมธาตุ บำรุงธาตุ รักษาโรคบิดไม่มีตัว โรคพยาธิ แก้ท้องร่วง ราก  มีรสขม ต้มน้ำดื่ม เป็นยาแก้ไข้ แก้บิด แก้เสียดท้อง แก้ปวดกล้ามเนื้อ ใช้เคี้ยวกับหมากแก้ไอ ใบ มีรสขม ใช้ตำกับปูนแดงพอกแก้ฝี แก้กลากเกลื้อน ถอนพิษตะขาบ แมงป่อง แก้ตับม้ามโต ต้น รสขม แก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย ทั้งต้นและเมล็ด รักษาไข้มาลาเรีย
            ในชวา  ใช้ เมล็ดราชดัดเป็นยารักษาโรคลำไส้
            ในฟิลิปปินส์  ใช้ ผลสดแก้อาการปวดท้อง
            ในบางแห่ง  นำพืชทั้งต้นมาต้มเพื่อรักษาไข้จับสั่นโดยเน้นในรักษาความผิดปกติของม้าม
             ประเทศจีน  ใช้ เป็นยาขับพยาธิในท้อง และยาแก้บิด

องค์ประกอบทางเคมี    
             เมล็ดมีอัลคาลอยด์ brucamarine

 

ข้อมูลเครื่องยา :           www.thaicrudedrug.com

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting