หุนไห้

ชื่อสมุนไพร

หุนไห้

ชื่ออื่นๆ

ไกรทอง แก่นแดง เข็ดมูล เจตมูล (ปราจีนบุรี) ต๋านฮ้วนเป็ด (เชียงใหม่) พิกุลทอง (ประจวบคีรีขันธ์) กระดูกอึ่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์

Erythroxylum cuneatum (Miq.) Kurz

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

Erythroxylaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 4-10 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นกลม กิ่งมักตั้งฉากกับลำต้น มีรอยแผลของหูใบ เกือบรอบกิ่ง เปลือกเรียบสีน้ำตาล เป็นร่องตามยาว เปลือกในสีเหลืองแกมน้ำตาล ไม่มีขน ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบหนา ปลายมน โคนสอบเรียว ด้านบนเนื้อใบหนาเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างเกลี้ยง ขอบใบเรียบ เส้นกลางใบด้านล่างนูน เส้นแขนงใบละเอียด จำนวนมาก เรียงชิดเกือบขนานกัน ก้านใบยาว 3-5 มิลลิเมตร หูใบรูปสามเหลี่ยมถึงรูปใบหอก ยาว 5-7 มิลลิเมตร ดอก เล็ก สีขาวอมเขียวอ่อน ออกช่อกระจุก 3-4 ดอก กลิ่นหอมอ่อนๆ ตามซอกใบ กลีบดอกสีขาว เขียวอ่อน หรือขาวแกมเขียว กลีบดอก และกลีบเลี้ยงมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกแยกจากกัน รูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง 1.5-2 มิลลิเมตร ยาว 3-4 มิลลิเมตร เหนือโคนกลีบด้านในมีเกล็ด เกสรเพศผู้ 10 อัน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกันเป็นหลอดยาว 2-3 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายเรียวแหลม ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านดอกยาว 4-10 มิลลิเมตร ผล เป็นแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-5 มิลลิเมตร ยาว 8-10 มิลลิเมตร อุ้มน้ำ มีพูตามยาว 3 พู ด้านหน้าตัดคล้ายรูปสามเหลี่ยม ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองหรือแดง เป็นมัน เมล็ดแบนโค้ง กว้าง 1-2 มิลลิเมตร ยาว 5-10 มิลลิเมตร พบตามป่าเต็งรัง ป่าดิบใกล้ชายทะเล และป่าดิบแล้ง ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน ยอดอ่อน ใบ กินกับลาบหรือน้ำพริกได้



 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ช่อดอก

 

ดอก

 

ดอก

 

ผล

 

ผล



สรรพคุณ    
               ตำรายาพื้นบ้านอุบลราชธานี   ใช้  ราก รักษาโรคไตพิการ บำรุงน้ำนม แก้ผิดสำแดง เปลือก ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องยาบำรุงกำลังร่างกาย และใช้เบื่อปลา
               ตำรายาไทย  ใช้  เปลือกต้น รสเมา แก้เส้นเอ็นพิการ แก้ปวดเมื่อย และแก้เหน็บชา ตามปลายมือปลายเท้า

               ยาพื้นบ้าน  ใช้ เปลือกต้น เข้ายาบำรุงร่างกาย โดยใช้ราก 1-2 กำมือ ต้มดื่มต่างน้ำ แก้ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น เหลืองหรือแดง มักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้) เปลือกต้นใช้เบื่อปลา ทั้งต้น และรากแห้ง ต้มแก้ซาง
               ประเทศฟิลิปปินส์  ใช้  ใบ เบื่อปลา

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting