ช้างน้าว

ชื่อสมุนไพร

ช้างน้าว

ชื่ออื่นๆ

ตาลเหลือง (เหนือ), แง่ง (บุรีรัมย์), ช้างน้าว, ตานนกกรด (นครราชสีมา), กำลังช้างสาร (กลาง), ขมิ้นพระต้น (จันทบุรี), ช้างโน้ม (ตราด), ช้างโหม (ร้อยเอ็ด), ฝิ่น (รบ), กระแจะ, กระโดงแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์

Ochna integerrima (Lour.) Merr.

ชื่อพ้อง

Ochna harmandii

ชื่อวงศ์

Ochnaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูงได้ถึง 12 เมตร กิ่งก้านแผ่ขยายออก ลำต้นมักคดงอ เปลือกสีน้ำตาลเข้ม ลำต้นแตกเป็นสะเก็ดเป็นร่องลึก ตามปลายกิ่งมีกาบหุ้มตาแข็งและแหลม ใบเดี่ยว เรียงสลับ มักพบเรียงชิดกันเป็นกลุ่ม ที่ปลายกิ่ง ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง 2.5-5.5 ซม. ยาว 12-17 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม พบบ้างที่ปลายมน โคนแหลมหรือมน ขอบใบจักฟันเลื่อยถี่ ผิวใบเรียบ เส้นใบข้าง 7-15 คู่ หักโค้งงอ และมีเส้นระหว่างกลาง ไม่จรดกัน ก้านใบ ยาว 2-3 มม. ใบแก่เขียวหม่น เหนียวเหมือนแผ่นหนัง มีหูใบเล็กๆ หลุดร่วงง่าย ทิ้งร่องรอยไว้บนกิ่งก้าน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ซอกใบและใกล้ปลายกิ่งที่ไม่มีใบ มักออกดอกพร้อมแตกใบใหม่ แต่ละช่อมี 4-8 ดอก กลีบดอกสีเหลืองสด เวลาบานมักมีสีเหลืองทั้งต้น ช่อยาว 3.5-6 ซม. ก้านช่อดอกยาว 2-5 มม. ดอกจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4.5 ซม. ก้านดอกยาว 2-4 ซม. ใกล้โคนก้าน มีลักษณะเป็นข้อต่อ ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน สีแดง กว้าง 5-8 มม. ยาว 10-15 มม. ผิวทั้งสองด้านเรียบ กลีบดอก 5-8 กลีบ สีเหลืองสด กลีบบอบบาง หลุดร่วงง่าย ฐานกลีบแคบ กลีบรูปไข่กลับ กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 1.5-3 ซม. ปลายกลีบมนหรือกลม โคนสอบเรียว คล้ายก้านกลีบ ขอบหยัก เกสรเพศผู้จำนวน 32-50 อัน ก้านชูอับเรณู ยาว 0.5-1.2 ซม. ขนาดไม่เท่ากัน วงนอกยาวกว่าวงใน อับเรณู ยาว 5-6 มม. อับเรณูมีช่องเปิดอยู่ด้านปลาย ฐานรองดอกพองนูน รูปครึ่งวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 มม. ขยายขนาดและมีสีแดงเมื่อเป็นผล รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ คาร์เพล 6-12 อัน แต่ละอันมี 1 ช่อง และมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียมี 1 อัน ยาว 1.2-2 ซม. ติดกับฐานของรังไข่ ปลายแยก 6-10 แฉก สั้นๆ ยอดเกสรเพศเมีย มีจำนวนพูเท่ากับคาร์เพล ผลสด แบบผลผนังชั้นในแข็ง ผลค่อนข้างกลม กว้าง 8-9 มม. ยาว 1-1.2 ซม. มีสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ ผิวมัน ผลมีก้านเกสรตัวเมียคงเหลืออยู่ และมีกลีบเลี้ยงสีแดงสดเจริญตามมารองรับ มีเมล็ด 1 เมล็ด ชั้นหุ้มเมล็ดแข็งขนาดใหญ่ มีเนื้อบางๆหุ้ม พบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าสน ป่าชายหาด ความสูง ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,200 เมตร ออกดอก และเป็นผลระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น

 

 

ผล และ ใบ

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ผล และ ใบ

 

 

ใบ และ ผล

 

 

ใบ และ ผล



สรรพคุณ    
              ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ลำต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดหลัง ปวดเอว
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีใช้ แก่น ต้มน้ำดื่ม แก้ประดง ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม บำรุงร่างกาย
              ตำรายาไทย ต้น ต้มน้ำดื่มบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้กระษัย แก้ปวดเมื่อย หรือต้นช้างน้าว ผสมกับต้นนมสาว รากลกครก รากน้ำเต้าแล้ง เถาตาไก้ อย่างละเท่ากัน ต้มกินเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงน้ำนม ราก ขับพยาธิ แก้โรคน้ำเหลืองเสีย บำรุงกำลัง ต้มน้ำดื่มแก้ผิดสำแดง แก้ปวดหลัง แก้เบาหวาน ผล รสมันสุขุม เป็นยาบำรุงร่างกาย เปลือกต้น รสขม เป็นยาแก้ไข้ ขับผายลม บำรุงหัวใจ เปลือกนอก บดเป็นผงมีสีเหลืองสด ทาแก้สิวฝ้า  เนื้อไม้ รสจืดเย็น แก้กระษัย ดับพิษร้อน แก้โลหิตพิการ
             ชาวเขาเผ่ามูเซอใช้ ราก เป็นยาบำรุงกำลัง โดยนำมาตากแห้ง หรือดองเหล้า หรือต้มน้ำดื่ม


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting