กุ่มบก

ชื่อสมุนไพร

กุ่มบก

ชื่ออื่นๆ

ผักก่าม (อีสาน) กุ่ม ผักกุ่ม

ชื่อวิทยาศาสตร์

Crateva adansonii DC.

ชื่อพ้อง

Crateva guineensis Schumach. & Thonn., Crateva laeta

ชื่อวงศ์

Capparaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง 20 เมตร แตกกิ่งก้านโปร่ง กิ่งก้านมักคดงอ เปลือกสีน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบหรือมีรอยแตกตามขวาง ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ใบรูปไข่ กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 2-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลมมีติ่งสั้น โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบจะเบี้ยว เนื้อใบหนานุ่ม ผิวใบมัน แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน ก้านใบร่วมยาว 7-9 เซนติเมตร เส้นแขนงใบ 4-5 คู่ ดอก ออกเป็นช่อกระจุก ตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีขาวเมื่อแรกบาน แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีชมพู กลีบดอกมี 4 กลีบ รูปรี ปลายมน โคนสอบเรียว เห็นเส้นบนกลีบชัดเจนคล้ายเส้นใบ โคนกลีบเป็นเส้นคล้ายก้าน กลีบเลี้ยงรูปรี กลีบเลี้ยงพอแห้งเปลี่ยนเป็นสีส้ม เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก ก้านเป็นเส้นสีม่วง เกสรเพศเมียค่อนข้างยาว 1 อัน มีรังไข่เหนือวงกลีบ กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ขนาดเล็ก  ผลสด รูปทรงกลม ขนาด 2-3.5 เซนติเมตร ผิวมีจุดสีน้ำตาลอมแดง เปลือกแข็ง ผลอ่อนมีสีเขียว พอสุกมีสีน้ำตาลแดง เมล็ดรูปเกือกม้าหรือรูปไต กว้าง 2 มิลลิเมตร ยาว 6 มิลลิเมตร มีหลายเมล็ด ผิวเรียบ พบตามป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ไร่นา ป่าเบญจพรรณ เขาหินปูนและป่าไผ่ พบตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึง 350 เมตร ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ติดผลราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ใบอ่อน

 

ใบแก่

 

ดอก

 

ดอก

 

ผลอ่อน

 

ผลอ่อน และ ผลสุก


สรรพคุณ    
               ตำรายาไทย ใบ มีรสร้อน ต้มน้ำดื่มบำรุงหัวใจและขับลม ใบสดตำทาแก้กลากเกลื้อน แก้ตานขโมย นำใบสดบดละเอียดผสมน้ำซาวข้าว นำมาพอกผิวบริเวณที่บวมคันจากพยาธิตัวจี๊ด ใช้ผ้าพันไว้สักระยะ จะรู้สึกร้อนบริเวณนั้น ทำสามวันติดต่อกัน ตัวจี๊ดจะหยุดแสดงอาการ ใบและเปลือกราก ใช้ทาถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้น เปลือกต้น มีรสร้อน แก้ปวดท้อง แก้ลงท้อง ขับผายลม แก้บวม บำรุงธาตุ คุมธาตุ กระตุ้นลำไส้ให้ย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ แก้ไข้ ขับน้ำเหลืองเสีย รักษานิ่ว บำรุงหัวใจ ทาแก้โรคผิวหนัง เป็นยาระงับประสาท เปลือกต้นนำมานึ่งให้ร้อนใช้ประคบแก้ปวด เปลือกต้นผสมกับเปลือกต้นกุ่มน้ำ และเปลือกทองหลางใบมน ต้มน้ำดื่มเป็นยาขับลม เปลือกต้นผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่มเป็นยาเจริญอาหาร และยาอายุวัฒนะ แก่น มีรสร้อน แก้ริดสีดวงทวาร และอาการผอมเหลือง กระพี้ รสร้อน ช่วยทำให้ขี้หูแห้งออกมา ราก มีรสร้อน บำรุงธาตุ แก้มานกระษัยที่เกิดจากกองลม ดอก เป็นยาเจริญอาหาร ผล แก้ท้องผูก ยอดอ่อนและช่อดอก  นำมาดองรับประทานเป็นผักได้ ผักกุ่มมีกรดไฮดรอไซยานิค (hydrocyanic acid) ซึ่งเป็นสารพิษ จึงต้องนำไปทำให้สุก หรือดองก่อนรับประทาน

 

ข้อมูลเครื่องยา : www.thaicrudedrug.com

ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์  : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting