มะตูม

ชื่อสมุนไพร

มะตูม

ชื่ออื่นๆ

มะปิน (ภาคเหนือ) กะทันตาเถร ตุ่มตัง ตูม (ปัตตานี) มะปีส่า (แม่ฮ่องสอน) พะโนงค์

ชื่อวิทยาศาสตร์

Aegle marmelos (L.) Correa

ชื่อพ้อง

Belou marmelos (L.) Lyons, Bilacus marmelos (L.) Kuntze, Crateva marmelos L., Feronia pellucida

ชื่อวงศ์

Rutaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:
             ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เรือนยอดรูปไข่ เปลือกต้นสีเทาเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้นๆตามยาว เนื้อไม้แข็ง มีสีขาวแกมเหลือง และมีกลิ่นหอม โคนต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ยาว แข็ง ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามกิ่ง ใบ เป็นใบประกอบแบบมีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ใบรูปไข่ กว้าง 1-7 เซนติเมตร ยาว 4-13 เซนติเมตร สองใบล่างมีขนาดเล็กและติดตรงข้ามกัน ใบปลายมีขนาดใหญ่ ปลายใบสอบ โคนใบแหลม ขอบใบเรียบหรือมีหยักมนๆ แผ่นใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ใบอ่อนสีเขียวอ่อนหรือสีชมพู มีขนละเอียด ใบแก่สีเขียวเข้ม เรียบเกลี้ยง เส้นใบข้าง 4-12 คู่ จรดกันที่ขอบใบ นูนขึ้นด้านบน ก้านใบย่อยที่ปลายยาว 0.5-3 เซนติเมตร ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ดอกสีขาวอมเขียวหรือสีเหลืองอ่อน ขนาด 1.5-2 เซนติเมตร ดอกมักออกพร้อมกับใบอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกขนาด 6-8 มม. รูปไข่กลับ โคนติดกัน ดอกสมบูรณ์เพศ เกสรตัวผู้มี 65-70 อัน อับเรณูสีน้ำตาลอ่อน ก้านเกสรตัวเมียสั้น รังไข่สีเขียวสด หมอนรองดอกเห็นไม่ชัดเจน กลีบฐานดอกกางแผ่เป็นรูปดาวมี 4-5 แฉกแหลมๆ กลีบเลี้ยงแบนมี 4-5 พู  ก้านดอกมีขนอ่อนปกคลุม ผล รูปรีกลมหรือรียาว ขนาดกว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกหนา แข็งมาก ไม่แตก ผลอ่อนมีสีเขียวพอสุกมีสีเหลือง เนื้อผลมีสีเหลือง นิ่ม มีกลิ่นหอม และมีเนื้อเยื่อสีส้มที่มียางเหนียวๆ ภายในมี 8-15 ช่อง เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน จำนวนมาก มียางใสเหนียวหุ้มเมล็ดอยู่ เมล็ดรูปรีๆ และแบน มีเส้นขนหนาแน่นปกคลุม พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ และป่าแล้งทั่วไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 50-700 เมตร ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และติดผลระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ใบ

 

ดอก และ ใบ

 

ดอก

 

ดอก

 

ใบ และ ผล

 

ผล

 

ผล


สรรพคุณ:   
               ตำรายาไทย ผล รสฝาด หวานชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะและลำไส้ ใช้เป็นยาแก้ท้องเดิน ท้องเสียเรื้อรัง แก้บิดมูกเลือด บิดเรื้อรัง บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้เจ็บคอ คออักเสบ ร้อนใน ปากเปื่อย ขับเสมหะ ขับลม ผลมะตูมยังมีสรรพคุณพิเศษคือมีฤทธิ์ลดความกำหนัด คลายกังวล และช่วยให้สมาธิดีขึ้น ชาวพุทธจึงนิยมใช้ทำเป็น น้ำปานะ ถวายพระสงฆ์  ผลดิบแห้ง ชงน้ำดื่ม แก้ท้องเสีย แก้บิด ผลสุก รสหวานเย็น เป็นยาระบาย ช่วยย่อยอาหาร บำรุงไฟธาตุ แก้ลมในท้อง แก้มูกเลือด ผลอ่อน รสฝาดร้อนปร่าขื่น บดเป็นผง ต้มกินแก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้โรคกระเพาะอาหาร ทำให้เจริญอาหาร ขับลม บำรุงกำลัง ผลแก่ รสฝาดหวาน ต้มดื่มแก้เสมหะและลม บำรุงไฟธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ใบสด รสฝาดมัน คั้นน้ำกินแก้หลอดลมอักเสบ แก้บวม แก้หวัด แก้ผดผื่นคัน แก้ตาบวม แก้ตาอักเสบ เปลือกรากและต้น รักษาไข้มาลาเรีย ขับลมในลำไส้  ราก รสฝาด ซ่า ใช้เป็นยาแก้ปากเปื่อย ขับเสมหะ แก้พิษฝี พิษไข้ แก้สติเผลอ ขับน้ำดี ขับลม เปลือกรากและลำต้น แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้ ใบใช้ในพิธีมงคลต่างๆ ยอดอ่อนใบอ่อน นำมารับประทานสดเป็นผัก เนื้อจากผลสุก รับประทานได้มีรสหวาน ยางจากผลใช้ติดกระดาษแทนกาว


องค์ประกอบทางเคมี:
              ผล ใบ และเมล็ด พบน้ำมันระเหยง่าย และสารอื่นๆ ได้แก่ d-limonene, d-phyllandrene, pyrogallol, gallic acid สารอัลคาลอยด์ ได้แก่ O-methylhalfordinol, marmin, marmelide, aegeline, aegelinol

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน

       การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน ในหนูขาวเพศผู้ ของสารสกัดน้ำที่ได้จากใบมะตูม โดยกระตุ้นให้หนูเป็นเบาหวานด้วยการให้สาร alloxan จากนั้นป้อนสารสกัดขนาด 500 mg/kgทุกวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ บันทึกผลการทดลอง โดยวัดระดับน้ำตาลกลูโคส และระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ GST (glutathione-S-transferase) ในเลือด, วัดระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระglutathione (GSH) และ malondialdehyde (MDA) ในเม็ดเลือดแดง ผลการทดสอบพบว่าระดับกลูโคสในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน (ไม่ได้รับสารสกัดพืช) และหนูที่เป็นเบาหวานที่ได้รับสารสกัดพืช เท่ากับ 156.875±49.637และ 96.111±15.568mg/dl (p=0.003) ตามลำดับ  ปริมาณสาร MDA เท่ากับ 20.973±4.233 และ16.228±2.683 nmol/gm Hb(p=0.01) ตามลำดับ, ระดับเอนไซม์ GSH เท่ากับ 6.766±1.406 และ 14.861±4.946 mg/gm Hb(p=0.0005)ตามลำดับ, ระดับเอนไซม์GST เท่ากับ18.420±2.046 และ 13.382±1.166µmol/min/dL(p<0.0001) ตามลำดับ เนื่องจากในหนูที่เป็นเบาหวาน จะมีภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress)เกิดขึ้น โดยมีปริมาณสาร MDA เพิ่มขึ้น และ GSH ลดลง การได้รับสารสกัดน้ำจากใบมะตูม ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูลดลง และพบว่าระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ GSH และ GST เพิ่มขึ้น ปริมาณสาร MDA ที่บ่งบอกภาวะเครียดออกซิเดชันลดลง (Upadhya, et al., 2004)

 

เอกสารอ้างอิง:

Upadhya S, Shanbhag KK, Suneetha G, Balachandra Naidu M, Upadhya S. A study of hypoglycemic and antioxidant activity of Aegle marmelos in alloxan induced diabetic rats. Indian J physiol and pharmacol. 2004;48(4):476-480.

 

 

ข้อมูลเครื่องยา                   : www.thaicrudedrug.com

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง         : www.thaiherbarium.com

ข้อมูลตำรับยาตรีเกสรมาศ  : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting