แมงลักคา

ชื่อสมุนไพร

แมงลักคา

ชื่ออื่นๆ

การา (สุราษฎร์ธานี), กระเพราผี, แมงลักป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์

Hyptis suaveolens (L.) Poit.

ชื่อพ้อง

Ballota suaveolens L., Bystropogon graveolens Blume, B. suaveolens (L.) L'Hér., Gnoteris cordata Raf., G. villosa Raf., Hyptis congesta Leonard, H. graveolens Schrank, H. plumieri Poit., Marrubium indicum Blanco, Mesosphaerum suaveolens (L.) Kuntze, Schaueria graveolens (Blume) Hassk., S. suaveolens

ชื่อวงศ์

Lamiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 1.5 เมตร ลำต้นเป็นสันสี่เหลี่ยม แตกกิ่งก้านมาก มีขนสีขาวเหนียวติดมือ มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบรูปไข่ กว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 2.5-6 เซนติเมตร เป็นร่องบริเวณเส้นใบ ปลายใบแหลมโคนใบสอบ ขอบใบหยักเล็กน้อย แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 0.5-3 เซนติเมตร มีขน ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง 2-5 ดอกย่อย สีม่วงอ่อน รูปปากเปิด ก้านช่อดอกยาว 0.5-1 เซนติเมตร มีขน ริ้วประดับเล็ก มีขนแข็งๆ กลีบดอกโคนกลีบสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกกเป็น 2 ปาก มีขน ด้านบน 2 แฉก รูปช้อนยาว 2.5-3 มิลลิเมตร กว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร ด้านล่าง 3 แฉก กลีบด้านข้างรูปรียาว 1-1.5 มิลลิเมตร กว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร กลีบกลางคล้ายเรือยาว 1-1.5 มิลลิเมตร กว้าง 0.5-1มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเรียวแหลมมีลักษณะคล้ายหนาม มีสันตามยาว 10 สัน โคนเชื่อมติดกันยาว 5-5.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 อัน ด้านนอกมีขนยาวปกคลุม เกสรเพศผู้มี 4 อัน แยกเป็น 2 คู่ ยาวไม่เท่ากัน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูติดกับก้านชูเกสรที่ด้านหลัง เกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 3-5 มิลลิเมตร ผลแห้งแบบแคปซูล รูปขอบขนานแคบ ยาว 1.2-1.5 มิลลิเมตร ปลายผลมักจะเว้า ผิวมีรอยย่นเด่นชัด ผลสีดำ พอแห้งไม่แตก เมล็ดเล็กมี 4 เมล็ด สีน้ำตาลเข้ม ค่อนข้างกลม ยาว 3-5 มิลลิเมตร กว้าง 2-3 มิลลิเมตร อยู่ภายในกลีบเลี้ยงที่เป็นถ้วย พบตามที่รกร้างริมทาง และป่าละเมาะทั่วไป ที่ระดับความสูงไม่มากนัก ออกดอกและติดผลได้ตลอดปี

 

ลักษณะวิสัย

 

ดอก และ ใบ

 

ดอก

 

ดอก

 

ผล


สรรพคุณ    
             ตำรายาไทย  ใบ ใช้ชงน้ำดื่มเป็นยาลดไข้ แก้ปวดท้อง ยอดอ่อน ขับเหงื่อ ขับน้ำนม แก้หวัด ใช้แต่งรสอาหาร ใบและปลายยอด รักษาโรคผิวหนัง แต่งกลิ่นอาหาร แก้ชักกระตุก แก้ปวดข้อ ราก ต้มน้ำดื่มเป็นยาเจริญอาหาร ขับระดู หรือเคี้ยวดับกลิ่นปากทั้งต้น ตำพอกแก้โรคผิวหนัง แก้ปวดท้อง ยาชงจากต้นใช้ขับเหงื่อในคนที่เป็นหวัด ใช้ไล่แมลง กิ่งและใบ ทุบวางในเล้าไก่สำหรับไล่ไรไก่ ไล่แมลง

             ประเทศจีนใช้ ใบ แก้ปวดศีรษะ เพิ่มการขับเหงื่อ ประเทศอินโดนีเซียใช้ ต้นแห้ง เลี้ยงสัตว์ ขับน้ำนม ประเทศเม็กซิโกใช้ เมล็ด นำมาย่างแก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ทั้งต้น ต้มดื่มแก้ปวดกระเพาะ แก้ปวดบิด ประเทศตรินิแดด ใช้ขับลม ขับเสมหะ แก้ไข้หวัด มาลาเรีย ไข้เหลือง ท้องผูก ปวดท้องประจำเดือน ประเทศเวเนซูเอลา ใช้ผสมน้ำอาบ รักษาอาการอัมพฤกษ์อัมพาต รักษาแผลพุพอง แก้โรคผิวหนัง โรคมะเร็ง และเนื้องอก ประเทศอินเดียใช้ ราก ช่วยย่อยอาหาร กระตุ้นความอยากอาหาร ประเทศไต้หวันใช้ ใบและลำต้น พอกแก้ปวดศีรษะ แก้โรคผิวหนัง ประเทศฟิลิปปินส์ใช้ ใบหรือยอด แก้ปวดท้อง แก้ปวดข้อ หรือตะคริว โดยผสมกับน้ำอาบ ราก ต้มกินขับระดู กระตุ้นความอยากอาหาร

 

องค์ประกอบทางเคมี

          ส่วนเหนือดิน น้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดิน มีองค์ประกอบหลักคือ eucalyptol (1,8-cineol) 30.38%, gamma-amylene 13.58%, beta-caryophylline 10.37%, delta-elemene 5.24% ส่วนเหนือดินยังพบสารชนิดอื่นๆ ได้แก่ เทอร์ปีนอยด์ เช่น oleanolic acid, beta-amyrin,  α-amyrin, lupeol, betulinic acid, ursolic acid, dehydroabietinol, hyptadienic acid สารฟลาโวนอยด์ ได้แก่ 4’,5-dihydroxy-7-methoxy flavone

          ราก พบน้ำมันหอมระเหย มีองค์ประกอบหลักคือ eucalyptol และ α-phellandrene 18.56%, limonene 8.51%, caryophylline oxide 2.71%  สารกลุ่มอื่นที่พบในรากได้แก่ เทอร์ปีนอยด์ เช่น ursolic acid, betulinic acid,beta-amyrin,  α-amyrin, oleanolic acid,α-peltoboykinolic acid

         เมือกหุ้มเมล็ด พบสารประเภทโพลีแซคคาไรด์ เช่น L-fucose, D-xylose, D-manose, D-galactose, D-glucose, 4-O-methyl-D-glucuronic acid

 

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          น้ำมันหอมระเหยจากดอก ใบ และต้น ยับยั้งเชื้อราก่อโรคหลายชนิด เป็นพิษต่อเซลล์ในหลอดทดลอง ยับยั้งเนื้องอก ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ทำให้หลอดเลือดคลายตัว ฆ่าตัวอ่อนแมลง ป้องกันแมลง กำจัดเพลี้ยอ่อน และหนอนห่อใบ

         สารสกัดเอทานอลจากใบ รักษาแผลในหนูขาว โดยมีฤทธิ์เพิ่มเอนไซม์ที่ใช้ต้านอนุมูลอิสระ เช่น catalase, superoxide dismutase  สาร dehydroabietinol และสาร 9α, 13α-epi-dioxiabiet-8(14)-en-18-ol จากส่วนเหนือดิน ยับยั้งเชื้อมาลาเรีย (Plasmodium falciparum) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 25 ug/ml และ 0.1 ug/ml ตามลำดับ

 

การศึกษาพิษวิทยา

          การทดสอบความเป็นพิษเรื้อรัง เมื่อให้สารสกัดน้ำของแมงลักคา แก่หนูขาว ป้อนทางปากในขนาด 5, 50, 250, 500 มก/กก/วัน เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลง การเจริญเติบโตของหนู หรือค่าโลหิตวิทยา และค่าชีวเคมีของซีรัม หรือพยาธิสภาพของอวัยวะภายในยังคงปกติ

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting