ยอป่า

ชื่อสมุนไพร

ยอป่า

ชื่ออื่นๆ

สลักป่า สลักหลวง (เหนือ) คุย (พิษณุโลก) โคะ

ชื่อวิทยาศาสตร์

Morinda coreia Buch.-Ham.

ชื่อพ้อง

Morinda exserta Roxb., Morinda tinctoria

ชื่อวงศ์

Rubiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 15 เมตร ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านมักคดงอ หักง่าย ผิวกิ่งมีปุ่มปมมาก ช่อดอกและใบออกหนาแน่นรวมกันที่ปลายกิ่ง เรือนยอดเป็นพุ่มรี เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมเทา หนาแตกเป็นร่องตามยาว และแนวขวาง หรือเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ ใบ เดี่ยว รูปรีหรือไข่กลับ เรียงตัวแบบตรงข้ามสลับตั้งฉาก ปลายใบมนหรือแหลม ฐานใบแหลมหรือเบี้ยว ขอบใบเรียบ และเป็นคลื่น หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีอ่อนกว่า ใบแก่บาง เหนียว ผิวใบด้านบนมีขนสากประปราย ด้านล่างมีขนนุ่ม ขนาดของใบ 4-7 x 8-17 ซม. มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ หลุดร่วงง่าย มักพบใบออกรวมกันอยู่ที่ปลายกิ่ง  ดอกเป็นช่อ ออกรวมกันเป็นกลุ่มที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ขนาดดอก 1.5 เซนติเมตร ปลายกลีบแหลม แยกเป็น 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม กลีบดอกหนาเมื่อดอกบานปลายกลีบแผ่กว้างออก  หลอดกลีบเลี้ยงด้านบนแบน สีเขียวอมเหลือง เชื่อมติดกับกลีบดอกข้างเคียงที่ฐาน เกสรตัวผู้สั้น 5 อัน ชูพ้นหลอดกลีบดอก  ผลเป็นผลรวมรูปร่างค่อนข้างกลม ผลอ่อนสีเขียว เนื้อในอ่อนนุ่ม ฉ่ำน้ำ สีขาว ผลแก่สีดำ มีเมล็ดมาก สีน้ำตาล เมล็ดแบน 1 เมล็ดต่อหนึ่งผลย่อย ออกดอกเดือนเมษายน-กรกฎาคม ผลออกช่วงพฤษภาคม-สิงหาคม พบในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ยอป่าเป็นไม้มงคลของอีสาน ในการนำข้าวขึ้นยุ้งจะตัดกิ่งยอป่ามาค้ำยุ้งไว้ก่อนนำข้าวขึ้นยุ้ง เพื่อเป็นสิริมงคล มีความหมายว่าให้ข้าวเพิ่มพูน

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ดอก และ ใบ

 

ดอก และ ใบ

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอก และ ผล

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอก และ ผล


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ใบ แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้ริดสีดวงทวาร แก้ม้ามโต ใบสด ตำพอกศีรษะฆ่าไข่เหา อังไฟแล้วนำมาปิดที่หน้าอกหน้าท้องแก้ไอ แก้จุกเสียด แก้ม้ามโต แก้ไข้ ผลอ่อน แก้คลื่นไส้อาเจียน ผลสุกงอม ขับระดูสตรี ขับลมในลำไส้ ผลสุกรับประทานได้  เปลือกและเนื้อไม้ แก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย แก่น รสขมร้อน ต้มหรือดองสุรา ดื่มขับเลือด บำรุงเลือด ขับน้ำคาวปลา ขับและฟอกโลหิตระดู แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ ขับผายลม ป้องกันบาดทะยักปากมดลูก  ราก แก้เบาหวาน ใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีแดง ใบอ่อน ยอดอ่อน ลวก ต้มให้สุกจิ้มน้ำพริก

 

องค์ประกอบทางเคมี
             ใบและกิ่ง พบอิริดอยไกลโคไซด์ได้แก่ yopaaoside A, yopaaoside B, yopaaoside C, 10-O-acetylmonotropein, 6-O-acetylscandoside, asperulosidic acid, deacetyl-asperuloside, asperuloside สารกลุ่มเซโคอิริดอยไกลโคไซด์ได้แก่ secoxyloganinสารกลุ่มฟีโนลิกไกลโคไซด์ได้แก่ 3,4,5-trimethoxyphenyl 1-O-β-apiofuranosyl (1"→6')-β-glucopyranoside สารกลุ่มแอนทราควิโนนไกลโคไซด์ได้แก่ lucidine 3-O-β primeveroside

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting