ดองดึง

ชื่อสมุนไพร

ดองดึง

ชื่ออื่นๆ

คมขวาน บ้องขวาน หัวขวาน (ชลบุรี) ก้ามปู ดาวดึงส์ ว่านก้ามปู (กลาง) พันมหา (นครราชสีมา) มะขาโก้ง (เหนือ) ดองดึงหัวขวาน ด้ามขวาน หัวฟาน

ชื่อวิทยาศาสตร์

Gloriosa superba L.

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

Colchicaceae (Liliaceae)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้เถาล้มลุกขนาดเล็ก อายุหลายปี  เลื้อยเกาะพันต้นไม้อื่น ยาวได้ถึง 5 เมตร ลำต้นเป็นหัวหรือเหง้าขนาดเล็กอยู่ใต้ดิน รูปร่างกลมเรียว มีหงอนเหมือนขวาน ใบเดี่ยวเรียงสลับ หรือเรียงเป็นวงรอบข้อ 1-3 ใบรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาว 5-15 เซนติเมตร ไร้ก้าน ปลายใบแหลมยืดยาวออกทำหน้าที่เป็นมือเกาะ โคนใบมน เส้นใบขนานกันไปสิ้นสุดที่ปลายใบ หลังใบและท้องใบเรียบ ขอบใบเรียบ ดอกเดี่ยว ขนาดใหญ่ ออกที่ซอกใบ ใกล้ปลายเถา สีเหลืองปลายกลีบสีแดง โคนกลีบเมื่อบานใหม่ๆมีสีเหลือง เมื่อดอกบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงทั้งดอก  มีกลีบ 6 กลีบ สีเขียวอ่อน และจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวและแดง กลีบรูปแถบ เรียวยาว 5-7.5 เซนติเมตร โค้งกลับไปทางก้านดอก ขอบกลีบหยักเป็นคลื่น เกศรเพศผู้มี 6 อัน ชี้ออกเป็นรัศมีตามแนวนอน ก้านยาว 3-5 เซนติเมตร อับเรณูยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาว 0.3-0.7 เซนติเมตร แยกเป็น 3 แฉก ก้านดอกยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ผล เป็นฝัก แห้งแตกได้ รูปกระสวย ปลายผลแหลม ขนาดกว้าง 2.5-3 เซนติเมตร ยาว 6-8 เซนติเมตร ผิวเรียบ มักมีสันตื้นๆ มี 3 พู เมล็ดกลมสีส้มแกมน้ำตาล จำนวนมาก พบตามป่าดงดิบเขาชื้น ที่รกร้างว่างเปล่าที่มีความชุ่มชื้นสูง

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ  และ  มือจับ

 

ดอก

 

ผล

 

เหง้าสด

 

เหง้า

 

สรรพคุณ    
             ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ระบุไว้ว่า รากและเหง้า เป็นยาที่อันตรายมาก เหง้าและเมล็ดมีพิษมาก ใช้รักษาโรคมะเร็ง        
             ตำรายาไทย  ใช้ หัว และเมล็ด แก้ปวดตามข้อ แก้โรคเรื้อน แก้คุดทะราด แก้เสมหะ ฝนน้ำทาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ให้สัตว์กินเพื่อขับพยาธิ หัว รสร้อนเมา แก้โรคเรื้อน คุดทะราด แก้โรคปวดข้อ (gout) แก้กามโรค แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ขับผายลม มีสารที่ใช้รักษาโรคมะเร็งได้ หัวสด ตำพอกหรือทา แก้ปวดข้อ แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ตำผสมทำยาประคบแก้ปวดข้อ (gout)  แก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ แก้ข้ออักเสบฟกบวม หัวแห้ง ปรุงเป็นยารับประทาน รักษาโรคเรื้อน มะเร็งคุดทะราด โรคปวดข้อ แก้กามโรค ขับผายลม จะต้องใช้ในปริมาณน้อย ถ้าเกินขนาดอาจเกิดพิษได้ ราก รสเมาร้อน แก้ลมจุกเสียด แก้เสมหะ ทาแก้โรคผิวหนัง แก้ปวดข้อ ตำพอกหรือทา แก้โรคผิวหนัง เรื้อน มะเร็งคุดทะราด แก้ปวดข้อ ต้มดื่ม แก้ลมจุกเสียด แก้เสมหะ ต้องใช้ปริมาณน้อย และเจือจางถ้าเข้มข้นเกินไปอาจเกิดพิษถึงตายได้

ข้อควรระวัง
          การใช้ดองดึงเป็นยารักษาโรคเกาต์ ไม่ควรใช้เหง้าต้มหรือปรุงวิธีอื่นกิน อาจเป็นพิษถึงตายได้ เพราะขนาดรักษาใช้ปริมาณน้อยมาก และใกล้เคียงกับขนาดที่ทำให้เกิดพิษ ควรใช้ในรูปยาเม็ดแผนปัจจุบัน ซึ่งสามารถกำหนดขนาดรับประทานที่ปลอดภัยได้ เหง้าดองดึงเป็นพิษโดยเป็นพิษต่อการแบ่งตัวของเซลล์ และเป็นพิษต่อทางเดินอาหาร อาการของพิษจะเกิดเมื่อกินสารนี้เข้าไปประมาณ 2 ชั่วโมง จะรู้สึกแสบร้อนในปากและลำคอ คอแห้ง กระหายน้ำ โดยมีอาการเจ็บปวดตามตัว ปากและผิวหนังชา คลื่นไส้อย่างรุนแรง ท้องร่วงอย่างแรง อุจจาระมีเลือดปน ปวดท้องปวดเบ่งแต่ไม่มีอุจจาระออกมา หายใจลำบาก กลืนไม่ลง ชัก หมดสติเนื่องจากร่างกายเสียน้ำมาก ตัวเย็น และอาจตายได้ใน 3-20 ชั่วโมง อุณหภูมิร่างกายจะลดลงต่ำมากก่อนเสียชีวิต จึงไม่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปนำมาใช้เอง ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์

ในการแพทย์แผนปัจจุบัน
          ใช้เหง้า สกัดเป็นสารบริสุทธิ์ ซึ่งมีแอลคาลอยด์ colchicines ทำเป็นยาเม็ดรักษาโรคเกาต์ (ปวดข้อ)

 

ข้อมูลเครื่องยา : www.thaicrudedrug.com

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting