เปล้าใหญ่

ชื่อสมุนไพร

เปล้าใหญ่

ชื่ออื่นๆ

เปล้าหลวง (เหนือ) เปาะ (กำแพงเพชร) ควะวู (กาญจนบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Croton oblongifolius Roxb.

ชื่อพ้อง

Croton roxburghii

ชื่อวงศ์

Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูงประมาณ 8 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลเทา มีรอยแตกบ้างเล็กน้อย กิ่งก้านค่อนข้างใหญ่ ยอดอ่อน ใบอ่อน และช่อดอก มีเกล็ดสีเทาเป็นแผ่นเล็กๆปกคลุมทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนาน รูปไข่หรือรูปใบหอก ใบลู่ลง ใบรียาว กว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 9-30 เซนติเมตร ใบอ่อนสีน้ำตาล โคนใบและปลายใบแหลมหรือมน ขอบใบจักเป็นซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ ใบแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ก้านใบยาว 1.3-6 เซนติเมตร ฐานใบมีต่อม 2 ต่อม หลังใบเรียบสีเขียวเข้ม ท้องใบมีขนไม่มาก ใบแก่สีเปลี่ยนเป็นสีส้มก่อนร่วงหล่น ดอกช่อออกที่ปลายกิ่ง หลายช่อ ช่อดอกยาว 12-22 เซนติเมตร ตั้งตรง ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน หรือแยกต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ทยอยบานจากโคนช่อไปหาปลาย ดอกตัวผู้สีขาวใส กลีบดอกสั้นมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกติดกัน มีกลีบเลี้ยงรูปขอบขนานกว้างๆ 5 กลีบ หลังกลีบเลี้ยงมีเกล็ดสีน้ำตาล กลีบดอกยาวเท่ากับกลีบเลี้ยง มีขนหนาแน่น ที่ฐานดอกมีต่อมกลมๆ 5 ต่อม เกสรตัวผู้มี 12 อัน เกลี้ยง ดอกตัวเมียวสีเหลืองแกมเขียว กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเล็กรูปยาวแคบ ขอบกลีบมีขน โคนกลีบดอกติดกัน ปลายกลีบดอกแหลม กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน รังไข่รูปขอบขนาน มีเกล็ด ผลแห้งแตก รูปทรงกลมแบน มี 3 พู ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวเรียบ ด้านบนแบน มีเกล็ดเล็กๆห่างกัน ผลอ่อนสีเขียว ผลอ่อนใช้ย้อมผ้า ผลแก่รับประทานได้ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง

 

ลักษณะวิสัย

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น และ ใบ

 

ใบ

 

ใบ

 

ดอก

 

ผล



สรรพคุณ    
             หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  ใบ เข้ายากับใบหนาด เครือส้มลม และตะไคร้หอม ต้มน้ำดื่มและอาบ แก้วิงเวียน ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี
             ตำรายาไทย  มักใช้ร่วมกับเปล้าน้อย เรียกว่าเปล้าทั้งสอง ใบ มีรสร้อน เมาเอียน เป็นยาบำรุงธาตุ แก้คันตามตัว แก้ลมจุกเสียด เป็นยาบำรุงกำลัง แก้กระหาย แก้เสมหะ และลม ดอก รสร้อน เป็นยาขับพยาธิ ผล รสร้อน เมาเอียน ดองสุราดื่มขับเลือดหลังคลอด ขับน้ำคาวปลา เปลือกต้นและกระพี้ รสร้อน เมาเย็น เป็นยาช่วยย่อยอาหาร แก้เลือดร้อน เปลือกต้น และใบ แก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต น้ำต้มเปลือกต้น กินแก้ไข้ แก้ตับอักเสบ แก้ปวดข้อและปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ แก่น รสร้อนเมาเย็น ขับพยาธิไส้เดือน ขับเลือด ขับหนองให้ตก ราก รสร้อนเมาเย็น ขับลมและแก้โรคผิวหนังผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย แก้โรคเรื้อน มะเร็ง คุดทะราด กระจายลม ทำน้ำเหลืองให้แห้ง รากต้มน้ำกินแก้โรคเหน็บชา โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย เจริญอาหาร และแก้ร้อนใน เนื้อไม้ รสร้อน แก้ริดสีดวงลำไส้และริดสีดวงทวารหนัก แก่น แก้ลมอันผูกเป็นก้อนให้กระจาย เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน เมล็ด กินเป็นยาถ่าย
           ยาพื้นบ้าน  ใช้  ต้น ผสมกับรากส้มลม ต้นเล็บแมวต้นตับเต่าโคก ต้นมะดูก ต้นมะเดื่ออุทุมพร ต้นกำจาย ต้นกำแพงเจ็ดชั้น และต้นกะเจียน ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือด ใบ ต้มน้ำอาบ แก้ผื่นคัน
           ยาพื้นบ้านนครราชสีมา  ใช้  น้ำต้มใบ ชำระล้างบาดแผล

 

ข้อมูลเครื่องยา :           www.thaicrudedrug.com

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting