แฟบน้ำ

ชื่อสมุนไพร

แฟบน้ำ

ชื่ออื่นๆ

ก้างปลาขาว (สุโขทัย), หมักแฟบ (พิษณุโลก), หูด้าง (สุรินทร์), หัวลิง (นครพนม, อุบลราชธานี, สุรินทร์, ขอนแก่น, นครราชสีมา), แควบ แฟบ (ชลบุรี), แฟบหัวลิง (ใต้) หูลิง

ชื่อวิทยาศาสตร์

Hymenocardia punctata Wall. ex Lindl.

ชื่อพ้อง

Hymenocardia laotica Gagnep., Hymenocardia wallichii Tul., Samaropyxis elliptica

ชื่อวงศ์

Phyllanthaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง 1.5-5 เมตร เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาลเทา มีน้ำยางใส ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ รูปขอบขนานหรือรูปวงรี กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2.5-7 เซนติเมตร ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง เป็นมันวาว แผ่นใบด้านล่างมีขนและต่อม มีขนหนาแน่นที่เส้นใบ และเส้นกลางใบ เส้นใบข้าง 6-8 คู่ หูใบ ยาว 1-3 มิลลิเมตร กว้าง 0.2-1 มิลลิเมตร ก้านใบยาว 0.5-1.2 เซนติเมตร ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ดอกมีขนาดเล็ก ดอกตัวผู้เป็นช่อแบบหางกระรอก (catkins) ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ดอกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 มิลลิเมตร  สีแดงถึงม่วง มีขนละเอียด กลีบดอกรูปสามเหลี่ยม ยาว 0.5 มิลลิเมตร กว้าง 0.4 มิลลิเมตร วงกลีบเลี้ยงยาว 1.5 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาว 0.5 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 4 หรือ 5 อัน อยู่รวมกับเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน อับเรณูยาว 1 มิลลิเมตร กว้าง 0.7 มิลลิเมตร ดอกตัวเมียเป็นช่อกระจะสั้นๆ ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ใบประดับร่วงง่าย เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1 มิลลิเมตร ก้านดอกยาว 0.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ขนาดยาว 1.2 มิลลิเมตร กว้าง 0.4-0.5 มิลลิเมตร รังไข่สีเขียว ยอดเกสรเพศเมียยาว 8.5 มิลลิเมตร สีแดงม่วงเข้มอมน้ำตาล ผลแห้งแตก ไม่มีปีก คล้ายรูปหัวใจ ลักษณะกลมแบน กว้าง แบ่งเป็น 2 พู ด้านบนหยักเว้าเล็กน้อย กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายผลมียอดเกสรเพศเมียติดคงทน ผลอ่อนสีเขียวปนเหลือง ผลแก่สีน้ำตาลเข้ม พอแห้งแตกออกตามแนว มีเมล็ดเดียว พบตามป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบ ป่าละเมาะริมน้ำ ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 235 เมตร ออกดอกราวเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ผลรับประทานได้

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ลำต้น

 

ใบ

 

ดอกเพศผู้

 

ดอกเพศผู้

 

ดอกเพศผู้

 

ดอกเพศเมีย

 

ดอกเพศเมีย

 

ดอกเพศเมีย

 

ดอกเพศเมีย

 

ดอกติดผล

 

ผล

 

ผล


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทยใช้ แก่น มีรสมึนเมาเล็กน้อย แก้พิษทั้งปวง แก้พิษไข้เซื่องซึม เป็นยาถอนพิษ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ปวดหลังปวดเอว แก้กระษัย (การป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง ปวดเมื่อย) และขับปัสสาวะ ราก รักษากามโรค
             ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ลำต้น ผสมลำต้นการเวก รากตับเต่าต้น รากเอนอ้าขน รากกำจาย ลำต้นอ้อยแดง ต้มน้ำดื่ม แก้ผิดสำแดง  ลำต้นและใบ นำมาเผาให้เกิดควันไฟ รักษาฝีหนองในสัตว์เลี้ยง
             ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีใช้ ราก เข้ายากับรากส้มกุ้ง ฝนกับน้ำดื่ม แก้ไข้มาลาเรีย ลำต้น เข้ายากับขมิ้นต้น และขมิ้นเครือ ต้มน้ำดื่ม แก้ซางเด็ก
             ประเทศกัมพูชาใช้ ผล มีรสเปรี้ยว ปรุงอาหาร

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting